• โทรศัพท์: +662 792 0001
  • อีเมล: info@amatafoundation.org
  • เวลาทำการ: 8:30 น. ถึง 17:00 น.

อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด ครั้งที่ 1

“นักเขียนอมตะ” คนแรกคือ “คุณศักดิชัย บำรุงพงศ์” หรือที่เรารู้จักกันดีในนามปากกาคือ “เสนีย์ เสาวพงศ์”

นายศักดิชัย บำรุงพงศ์ นามแฝง เสนีย์ เสาวพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พุทธศักราช 2461 ที่อำเภอบางบ่อที่จังหวัดสมุทรปราการ บิดาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ชื่อ นายหงส์ มารดาชื่อ นางแพ สกุลเดิม โรจนวิภาต มีอาชีพทำนา ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เป็นนักเขียนผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำทางปัญญา มีผลงานสม่ำเสมอ ต่อเนื่องเกินกว่า 'หกทศวรรษ' เป็นผลงาน ที่ทรงคุณค่า หลากหลายเนื้อหาและรูปแบบทั้ง นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี และ กวีนิพนธ์ ลักษณะ เนื้อหาแสดงให้เห็นถึงความคิดก้าวหน้า แต่มีวิธีการนำเสนออย่างสุขุมนุ่มลึก มีมุมมองต่อโลกและชีวิตอันหลากมิติ เปี่ยมไปด้วยอุดมทัศน์ และผลงานศิลปวรรณกรรมมีลักษณะเป็นสากล ฯลฯ

เสนีย์ เสาวพงศ์ นักเขียนรางวัล 'ศรีบูรพา' คนแรก (พ.ศ. 2531) และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2533 เสนีย์ เสาวพงศ์ ยังเขียนนิยายอีกหลายเล่ม เช่น "ไฟเย็น" "บัวบานในอะมาซอน" "คนดีศรีอยุธยา" ตลอดจน "ดิน น้ำ และดอกไม้" "ความรักของวัลยา" และ "ปีศาจ" นวนิยายที่กลายเป็น วรรณกรรมชั้นคลาสสิคของไทยไปแล้วในวันนี้

คำประกาศเกียรติคุณ

คณะกรรมการพิจารณารางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำพุทธศักราช 2547 มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายศักดิชัย บำรุงพงศ์ ( เสนีย์ เสาวพงศ์ ) เป็นผู้สมควรได้รับรางวัลเกียรติยศ “นักเขียนอมตะ”

นายศักดิชัย บำรุงพงศ์เป็นนักเขียนผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำทางปัญญา มีผลงานสม่ำเสมอ ต่อเนื่องเกินกว่าหกทศวรรษ เป็นผลงานที่ทรงคุณค่า หลากหลายเนื้อหาและรูปแบบทั้ง นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดีและกวีนิพนธ์ ลักษณะเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงความคิดก้าวหน้าแต่มีวิธีการนำเสนออย่างสุขุมลุ่มลึก

จากประสบการณ์ชีวิตที่กว้างขวางในดินแดนต่าง ภาษาต่างวัฒนธรรม ทำให้ท่านมีมุมมองต่อโลกและชีวิตอันหลากมิติ เปี่ยมไปด้วยอุดมทัศน์ นำมาสร้างสรรค์ผสานกับจินตนาการ ก่อเกิดเป็นผลงานศิลปะวรรณกรรมที่มี ลักษณะเป็นสากล ด้วยจิตสำนึกที่แสดงความเอื้ออาทรต่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม ช่วยให้เกิดความหวังในชีวิต โดยใช้ความรักและความเข้าใจเป็นแรงบันดาลใจนายศักดิชัย บำรุงพงศ์สามารถใช้ภาษาได้อย่างคมคายและมีพลัง สามารถกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกใฝ่ดีของผู้อ่านให้ตระหนักถึงคุณค่าของความรับผิดชอบต่อสังคม ดังคำกล่าวของท่าน ในนวนิยายเรื่อง “ความรักของวัลยา” ตอนหนึ่งว่า “ศิลปะจะต้องก่อให้เกิดความรู้สึกในแง่งาม ความรู้สึกในทางสุนทรภาพ อันจะยกระดับจิตใจของคนเราให้สูงขึ้น ดีขึ้น และสมบูรณ์ขึ้น” กล่าวได้ว่าผลงานของนายศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์เป็น “เพชรในวงวรรณกรรม” ที่มีความเป็นอมตะสมควรได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น "นักเขียนอมตะ"