• โทรศัพท์: +662 792 0001
  • อีเมล: info@amatafoundation.org
  • เวลาทำการ: 8:30 น. ถึง 17:00 น.

อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด ครั้งที่ 11/2567

มูลนิธิอมตะประกาศผลรางวัล "นักเขียนอมตะ" ประจำปี 2567 ยกย่อง
"ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ" คว้ารางวัล "นักเขียนอมตะ" ครั้งที่ 11 ประจำปี 2567

การคัดสรรรางวัลนักเขียนอมตะ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2567 คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณดร.เจตนา นาควัชระ ได้รับรางวัลนักเขียนอมตะ ประจำปีนี้ จะได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัลจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)

ในปีนี้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านวรรณศิลป์ จำนวน 6 ท่าน ประกอบด้วย

1. นางชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง)
(ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์)
  ประธานกรรมการ
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์   กรรมการ
3. รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร   กรรมการ
4. นายจรัญ หอมเทียนทอง   กรรมการ
5. นางกนกวลี กันไทยราษฎร์ (พจนปกรณ์)   กรรมการ
6. รองศาสตราจารย์ ดร.สุปาณี พัดทอง   กรรมการและเลขานุการ

โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้

ข้อ 1 เป็นนักเขียนสัญชาติไทยและมีชีวิตอยู่ในวันที่เสนอชื่อ
ข้อ 2 มีผลงานเป็นภาษาไทยเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อเนื่องยาวนาน
ข้อ 3 ผลงานมีคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ

คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ
นักคิด นักวิจารณ์ นักเขียน ผู้ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปีพุทธศักราช 2567

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ที่เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยสอบได้อันดับหนึ่งในแผนกอักษรศาสตร์ของประเทศไทย ต่อมาได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อในยุโรปตั้งแต่ปริญญาตรีจนสำเร็จปริญญาเอก ได้เป็นนักวิชาการแลกเปลี่ยนในสหรัฐอเมริกา และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหลายครั้งด้วยทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ พ.ศ. 2509 เมื่อจบการศึกษาปริญญาเอก กลับมารับราชการ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จนถึง พ.ศ. 2511 ย้ายไปเป็นอาจารย์ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ สอนภาษาและวรรณคดีเยอรมัน ในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นอาจารย์ รับเชิญในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสาขาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ การวิจารณ์ศิลปะ และการอุดมศึกษา เคยดำรงตำแหน่งบริหาร ได้แก่ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (พ.ศ.2519 - 2522) และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผนพัฒนา (พ.ศ. 2522 - 2524) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เมื่อ พ.ศ. 2526 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2540 เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ศาสตราจารย์ระดับ 11 และหลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณหลังจากนั้น

ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยไทยรวม 5 แห่ง และจากมหาวิทยาลัยทือบิงเงินในเยอรมนี ได้รับรางวัลที่สำคัญได้แก่ เหรียญเกอเธ่ (พ.ศ. 2516) ทุนฟุลไบรท์ (พ.ศ. 2527, 2532-33, 2535) รางวัลการวิจัยมูลนิธิฮุมโบลท์ (พ.ศ. 2537) ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. (พ.ศ. 2538) รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม (พ.ศ. 2552 ) และรางวัลนราธิปจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2560)

ตัวตนและผลงานอันจำเพาะยิ่งของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ

1.เป็นนักคิด นักวิจารณ์

เจตนาเป็นนักคิดและนักวิจารณ์ที่ลึกซึ้งและสร้างสรรค์ เขียนตำราว่าด้วยการวิจารณ์ไว้หลายเล่ม อาทิ ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี (2520) ทางไปสู่วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ (2524) ทางอันไม่รู้จบของวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ (2530) Fervently mediating: Criticism from a Thai perspective. Collected articles 1982-2004 (2547) และเป็นผู้สร้างแนวคิดใหม่ในเส้นทางการวิจารณ์วรรณกรรมและศิลปะไทย โดยให้แนวคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ พร้อมมีวลีคมคายสำหรับจดจำ อาทิ “วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” “ศิลปะส่องทางให้แก่กัน” “วัฒนธรรมระนาดทุ้ม” “ศัตรูที่ลื่นไหล” “ทฤษฎีแผ่นดินแม่” “ครุ่นคิดพินิจนึก” “ทวิวัจน์” คำและบทความขยายคำเหล่านี้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการหามุมมองใหม่ ในการเขียนและการวิจารณ์ใน

แวดวงวรรณกรรมและศิลปะไทย และเป็นแนวคิดที่สะท้อนภาพและปัญหาของสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งยังให้แนวทางสำหรับการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืนต่อไป

2.เป็นนักภาษาและนักเขียนสารคดีที่มีชั้นเชิงวรรณศิลป์

เจตนาเป็นนักภาษา รู้หลายภาษา เล่นกับภาษาได้ลึกซึ้งและใช้ภาษาไทยกับภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส) ได้เสมอกัน อีกทั้งยังมีกลวิธีเชิงวรรณศิลป์ในการใช้ภาษาเพื่อปลุกเร้าหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่าน มีการสร้างคำชุดใหม่ มีการเปรียบเทียบที่แยบยลเห็นภาพ ทำให้เนื้อหาของเรื่องนั้น ๆ สะท้อนสู่จิตใจผู้เสพได้รวดเร็วและชัดเจน จนอาจกล่าวได้ว่า เจตนาเป็นนักเขียนสร้างสรรค์สารคดีวรรณศิลป์คนหนึ่ง อาทิ บทความชื่อ “ศัตรูที่ลื่นไหล แง่มุมหนึ่งของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย” (2529) แปลกใหม่และทรงอิทธิพลต่อวงวรรณกรรมมาจนปัจจุบัน บทความในเล่ม “ทางไปสู่วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” (2524) และ “ความอยู่รอดของมนุษยศาสตร์ไทย”(2532) และ “จุดยืนของมนุษยศาสตร์”(2558) สร้างความตื่นตัวให้แก่วงการวิจารณ์วรรณกรรมและการศึกษาไทยอย่างมาก

3.เป็นนักประสานวัฒนธรรม

ด้วยการอ่าน การแปล วิจัย ศึกษาและค้นคว้าวรรณกรรมและวัฒนธรรมยุโรปอย่างลึกซึ้ง ทำให้เจตนามองเห็นความต่างและความเหมือนหรือความคล้ายของภูมิปัญญาตะวันตกและภูมิปัญญาตะวันออก เมื่อผสานเข้ากับความช่างคิด วิเคราะห์ และวิจารณ์ ผลงานจึงออกมาอย่างมีองค์ประกอบของสองวัฒนธรรม ให้แง่มุมและความคิดแปลกใหม่อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ผลงานวิเคราะห์วิจารณ์ที่เขียนเป็นภาษาไทยจึงได้รับการยอมรับจากนักวิชาการวรรณกรรมไทยทั่วประเทศ รวมทั้งนักวิชาการต่างสาขาด้วย ในขณะเดียวกันผลงานที่เขียนเป็นภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษก็ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากนักวิชาการนานาชาติเช่นกัน

4.เป็นพลเมืองแบบอย่าง

เจตนามีอุดมคติในการใช้ชีวิตชัดเจน เห็นประโยชน์ประเทศชาติก่อนอื่นใดเสมอ และมักยืนยันความสำนึกในบุญคุณรัฐบาลไทยที่ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาต่อในยุโรปของเขา เจตนาบอกผู้รับทุนรัฐบาลไทยรุ่นหลังเสมอว่า “ทุนนั้นชดใช้หมด แต่บุญคุณใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมด” ด้วยเหตุนี้เอง เจตนาจึงอุทิศตนให้แก่วงการวรรณกรรมวิจารณ์ วงการการศึกษาทั้งอุดมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นครูที่ดีเลิศ มีมาตรฐานในการสอน และเป็นนักวิจัยชั้นเยี่ยม ทุกครั้งที่ได้รับทุนวิจัยใด ๆ เขาจะทำงานวิจัยอย่างเต็มที่โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยรวม การณ์ทั้งปวงนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลต่าง ๆ และเป็นแบบอย่างของคนในวงวรรณกรรมและ วงการศึกษาไทย รวมถึงสังคมไทยด้วย

ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ได้รับรางวัล "นักเขียนอมตะ" ประจำปีพุทธศักราช 2567