• โทรศัพท์: +662 792 0001
  • อีเมล: info@amatafoundation.org
  • เวลาทำการ: 8:30 น. ถึง 17:00 น.

อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด ครั้งที่ 9/2563

โครงการ “นักเขียนอมตะ”

มูลนิธิอมตะมีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมบุคคลที่ทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม ผู้สร้างสรรค์คุณค่าผ่านงานประพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจึงได้พิจารณาการจัดตั้งรางวัล “นักเขียนอมตะ” เพื่อเป็นการยกย่องนักเขียนไทยที่มีความสามารถ ให้ปรากฏและเป็นกำลังใจแก่นักเขียนไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า อันควรแก่การนำผลงานเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงสู่สากล และถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศซึ่งเปี่ยมด้วยคุณค่าและมาตรฐาน คงไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ อิสระ และเชิดชูเกียรติประวัติแห่งผู้อุทิศตนที่ได้ทุ่มเทสร้างผลงาน ทั้งนี้มูลนิธิได้กำหนดเงินรางวัล 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) และโล่รางวัลเพื่อมอบให้แก่บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “นักเขียนอมตะ” ในแต่ละปี

หลักเกณฑ์ในการคัดสรร

มูลนิธิจะแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อค้นหานักเขียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” โดยในแต่ละปีคณะกรรมการจะทบทวนหลักเกณฑ์ในการพิจารณารางวัล ซึ่งปีนี้ทางคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ มีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

  1. เป็นนักเขียนสัญชาติไทยและมีชีวิตอยู่ในวันที่เสนอชื่อ
  2. มีผลงานตีพิมพ์เป็นภาษาไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี
  3. ผลงานดังกล่าวต้องมีคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ

คณะกรรมการพิจารณารางวัล

1. นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
(ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2536)
  ประธานกรรมการ
2. นางชมัยภร บางคมบาง
(ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปีพุทธศักราช 2557)
  กรรมการ
3. รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร   กรรมการ
4. นายจรัญ หอมเทียนทอง   กรรมการ
5. ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์   กรรมการ
6. นางกนกวลี กันไทยราษฎร์   กรรมการ
7. รองศาสตราจารย์ ดร.สุปาณี พัดทอง   กรรมการและเลขานุการ

ที่ปรึกษาโครงการ

นางชุติมา เสวิกุล

คำประกาศเกียรติคุณ อัศศิริ ธรรมโชติ
ผู้ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำพุทธศักราช 2563

Winner Amata Writer 9อัศศิริ ธรรมโชติ เกิดวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ แต่ไปเติบโตที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสาธุการ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 5 ที่โรงเรียนไกลกังวล แต่ยังไม่ทันจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องจากบิดามารดาที่เป็นชาวประมงประสบภาวะขาดทุนถึงขั้นล้มละลายทำให้ต้องย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา จากนั้นตั้งใจจะสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่สอบไม่ได้ จึงใช้เวลาสองปีกับการทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่จังหวัดสกลนคร นครพนมและเพชรบูรณ์ โดยมีหน้าที่ทำแผนที่หมู่บ้านเพื่อการสำรวจสำมะโนประชากร พ.ศ. 2513 จึงกลับมาสอบเข้าศึกษาต่อได้ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ใน พ.ศ. 2517

ระหว่างศึกษาอยู่คณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 อาศัยประสบการณ์และวัตถุดิบจากการทำงานที่ภาคอีสานมาเขียนเป็นเรื่องสั้นชื่อ “สำนึกของพ่อเฒ่า” ได้รับรางวัล “พลับพลามาลี” ของชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ และจากนั้นเขียนเรื่องสั้นอีกหลายเรื่องสะท้อนเหตุการณ์บ้านเมือง ทั้งที่ได้รับแรงกระทบจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ภายหลังที่สำเร็จการศึกษา ทำงานเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ อาทิ ประชาชาติรายวัน สยามรัฐรายวัน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ มาตุภูมิ สู่อนาคต และยุติการทำงานประจำใน พ.ศ. 2541 หลังจากนั้น ใช้ความสามารถทางการประพันธ์เขียนบทภาพยนต์และบทละครโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ระหว่างทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขียนเรื่องสั้นไปด้วย รวมเรื่องสั้นเล่มแรกชื่อ “ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2524 จากนั้นมีผลงานรวมเล่มอีกหลายเล่ม ทั้งเรื่องสั้น นวนิยายและวรรณกรรมเยาวชน มีผลงานรวมเล่มแล้ว 21 เล่ม และได้รับการประกาศยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2543 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

อัศศิริ ธรรมโชติ เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ มีชื่อตามหลัง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” มาแบบไม่ห่าง ทั้งที่คนทั้งสองเกิดห่างกันยาวนานกว่าสี่สิบปี ทั้งคู่ต่างเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้สามารถนำชีวิตและประสบการณ์อันเข้มข้นของความเป็นนักหนังสือพิมพ์ มาถ่ายสะท้อนผ่านตัวอักษรสู่งานเขียนสร้างสรรค์ประเภทเรื่องสั้นและนวนิยายได้อย่างมีคุณภาพ และได้อรรถรส

ผลงานของอัศศิริ ธรรมโชติ สรุปคุณลักษณะได้ ดังนี้

1. สะท้อนความเข้าใจโลกและชีวิตเข้มข้นผ่านตานักข่าวและใจนักเขียน

ผลงานถ่ายทอดและสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจโลกและชีวิตอย่างลึกซึ้งโดยผ่าน มุมมอง แง่คิด และประสบการณ์ชีวิตที่ตกผลึกในใจในฐานะนักเขียน ผสมผสานกับภาพชีวิตของคนอื่นผ่านสายตาของการเป็นนักข่าว เมื่อสองภาพแห่งความเข้าใจนี้รวมกันเข้าก็กลายเป็นเรื่องแต่งอันทรงพลัง

2. สะท้อนภาพชีวิตทุกข์ยากที่ก่อผลสะเทือนทางจิตใจอย่างยิ่ง

ผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพของคนที่ถูกเอาเปรียบในสังคม เป็นสามัญชนไร้อำนาจ ไร้สถานะ เป็นคนจน เป็นคนชนบท เป็นผู้หญิงและเด็ก เขาสามารถเลือกมุมชีวิตอันเป็นจริงแต่สะท้านสะเทือน เป็นสภาวะที่ไม่มีทางเลือกของผู้ตกเป็นเหยื่อระบอบสังคม การปกครอง หรือขนบชีวิต และนำเสนอด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์อันกินใจ จนก่อให้เกิดความกระทบใจแก่ผู้คนในสังคมได้ต่อเนื่องยาวนาน

3. ยืนหยัดในจิตสำนึกอันดีงามและยกระดับจิตใจมนุษย์

ผลงานสะท้อนปรากฏการณ์ผ่านจิตสำนึกอันสัมผัสใจ ยืนยันจิตสำนึกไปในทางที่ดีงาม ยกระดับจิตใจทั้งของตัวละคร และคนอ่าน ยืนหยัดว่าจิตสำนึกดีงามมีได้ในมนุษย์ทุกคน

4. เป็นตัวอย่างของเรื่องสั้นชั้นครู

เรื่องสั้นจำนวนนับร้อยเรื่องเป็นตัวอย่างของเรื่องสั้นที่ดี มีทั้งที่โดดเด่นในแง่ของความคิด การสร้างตัวละคร การพลิกผันของโครงเรื่อง การใช้ภาษาเล่าเรื่อง และการสร้างอารมณ์สะเทือนใจ นับได้ว่าเป็นเรื่องสั้นชั้นครู สามารถใช้เป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษาการเขียนเรื่องสั้นได้

5. เป็นแบบอย่างสุนทรียภาษาและแสดงพลังภาษาไทย

ผลงานใช้ภาษางดงาม สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของเรื่อง เห็นเป็นภาพ ได้ยินเป็นเสียงและมีพลัง ได้อารมณ์ความรู้สึก อ่านแล้วเกิดความภาคภูมิใจในความงามและพลังของภาษาไทย นับได้ว่าเป็นแบบอย่างของการใช้สุนทรียภาษาในเรื่องแต่งได้เป็นอย่างดี

ความเป็นนักเขียนอมตะ ของ อัศศิริ ธรรมโชติ ยังอยู่ที่มหัศจรรย์ของงานเขียนที่สามารถ ทอด จับ รับ ปรากฏการณ์แห่งยุคสมัย เพื่อส่องสะท้อนให้คนในรุ่นปัจจุบันได้แลเห็น และเฝ้าระวังภยันตรายที่กำลังก่อร่างสร้างรูปอยู่ มิให้กลายเป็นโศกนาฏกรรม เช่นที่สังคมไทยเคยพานพบมาแล้ว

ด้วยคุณสมบัติอันถึงพร้อม มูลนิธิอมตะจึงขอมอบรางวัล "นักเขียนอมตะ" ประจำปี 2563 ให้แก่ “นายอัศศิริ ธรรมโชติ"

ประกาศ ณ วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2563

ภาพวันงานประกาศรางวัล

art9 004
art9 005
art9 008
art9 011

ผลงานของนายอัศศิริ ธรรมโชติ

ปัจจุบัน อัศศิริ ธรรมโชติ ลาออกจากงานประจำ เป็นนักเขียนอิสระ มีผลงานเขียนทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และบทความ ที่ตีพิมพ์รวมเล่มดังนี้

1. ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง (รวมเรื่องสั้น, 2521) ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2524 ปี 2562 ได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมในรัชกาลที่ 9 และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ

2. ขอบฟ้าทะเลกว้าง (เรื่องสั้นขนาดยาว, 2524) ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือสำหรับห้องสมุดในสังกัดกรมวิชาการ สปช.

3. เหมือนทะเลมีเจ้าของ (รวมเรื่องสั้น, 2524)

4. นักฟุตบอลบ้านนอก (รวมเรื่องสั้น, 2526)

5. บ้านริมทะเล (รวมเรื่องสั้น, 2527)

6. ทะเลและกาลเวลา (นวนิยาย, 2528) ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ

7. โลกสีน้ำเงิน (วรรณกรรมเยาวชน, 2528) ได้รับรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชนก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2528 และได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

8. งามแสงเดือน (รวมเรื่องสั้น, 2529)

9. มหกรรมในท้องทุ่ง (วรรณกรรมเยาวชน, 2530) ได้รับรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชนก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2530 และได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 เล่ม จากโครงการวิจัยหนังสือดี 100 เล่มที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน

10. ขอทาน แมว และคนเมา (รวมเรื่องสั้น, 2531) ได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมบัวหลวง

11. นวลน้อย (นวนิยาย, 2531)

12. เด็ก ผู้หญิง คนแก่ แมว และผม (รวมเรื่องสั้นขนาดยาว, 2532) ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือดีสำหรับห้องสมุดในสังกัดกรมวิชาการ สปช.

13. ชีวิตคือวัยอันผ่านพ้น (วรรณกรรมเยาวชน, 2533)

14. หลาย ๆ ครั้งในชีวิต (เรื่องสั้นขนาดยาว, 2533)

15. มโนสาเร่ (บทความ, 2534)

16. ทะเลร่ำลมโศก (รวมเรื่องสั้น, 2535)

17. เสือกระดาษ (บทความ, 2538)

18. เหนือเหน็บหนาวและเร่าร้อน (รวมเรื่องสั้น, 2545)

19. อ่านคึกฤทธิ์ (บทความ, 2548)

20. คนละโลกเดียวกัน (รวมเรื่องสั้น, 2549)

21. แสงแดดและสายฝน (รวมเรื่องสั้น, 2558)

1
10
11
12
2
3
4
5
6
7
8
9