อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด ครั้งที่ 3
นายโกวิท เอนกชัย นามแฝง เขมานันทะ รุ่งอรุณ ณ. สนธยา ฉับโผง สหัสนัยน์ กาลวิง (แปลว่านกกระจอก : สำหรับงานวิเคราะห์และวิจารณ์) และ มุนีนันทะ เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2481 ที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา จบการศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โกวิท เอนกชัย ทำงานเขียนต่อเนื่องมายาวนาน ถึงบัดนี้เป็นเวลาถึง 37 ปี มีประสบการณ์ ทางด้านการศึกษาปฏิบัติธรรม ได้เรียนรู้โดยตรงจากครู ผู้เป็นสุดยอดของพระสงฆ์ ทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ
ผลงานของท่านมีมุมมองพิเศษและลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณ จากรากฐาน ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเปิดกว้างสู่ความเป็นสากล ทำให้มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ หลากหลายรุ่นชน หลากหลายอาชีพ สนใจในงานเขียนและทัศนะทุกด้านของท่านเขมานันทะมาโดยตลอด ลักษณะเด่นในงานวรรณกรรมและงานธรรมบรรยายทั้งหมดนั้น นอกจากจะมีมิติกว้างไกลทั้งทางด้านศิลปะ นิเวศวิทยา มานุษยวิทยา ให้ความรู้ลุ่มลึกในหนทางพุทธประเพณีของวัฒนธรรมไทยแล้ว ภาษาที่อาจารย์เลือกใช้ก็มีความคมคาย ไพเราะ กินใจอย่างยิ่ง แต่ที่สำคัญที่สุดคือความเข้าใจลึกซึ้งต่อชีวิตและ แก่นของชีวิตที่เปิดเผยอยู่ในหนังสือเล่มต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนเป็นประสบการณ์ตรงที่ท่านอาจารย์ได้รับจากการปฏิบัติภาวนามา ยาวนานหลายสิบปี และยังปฏิบัติอยู่ ทุกขณะในชีวิตประจำวัน
ผลงานที่โดดเด่นมากที่สุด คือ การนำเสนอแนวคิดในการอ่าน และตีความ วรรณกรรมพื้นบ้านไทย ในหนังสือ เค้าขวัญวรรณกรรม และ งานเขียนชุด จากดักแด้สู่ผีเสื้อ ได้รับรางวัลที่ 2 ของหนังสือประเภทสารคดี จากการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล “เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2547
คำประกาศเกียรติคุณ
คณะกรรมการพิจารณารางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำพุทธศักราช 2549-2550 มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า อาจารย์โกวิท เอนกชัย (เขมานันทะ) เป็นผู้สมควรได้รับรางวัลเกียรติยศ “นักเขียนอมตะ”
อาจารย์โกวิท เอนกชัย เป็นกวี นักคิด นักเขียน จิตรกรและประติมากร ผู้สร้างสรรค์ผลงานหลากหลายรูปแบบ ต่อเนื่องยาวนานมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี ผลงานวรรณกรรมกว่า 60 เล่ม นำเสนอเรื่องราวของชีวิต จิตใจ ความลึกซึ้งของการเป็นมนุษย์ การเรียนรู้จิตใจตนเองและคนรอบข้าง การมองโลก มองสังคม มองการเปลี่ยนแปลงที่หมุนเคลื่อนอยู่ใน วิถีวัฒนธรรม ด้วยการตั้งข้อสังเกตอย่างลุ่มลึก ล่วงพ้นไปจากพรมแดนของเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม
ในวิถีของนักเขียน กวี และวิปัสสนิกผู้ปฏิบัติธรรมในทุกขั้นตอนของชีวิต งานสร้างสรรค์ทางศิลปะทุกแขนงของอาจารย์จึงเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีแห่งการปฏิบัติภาวนา อย่างชัดแจ้ง ลักษณะเด่นของผลงานนอกจากจะมีมิติกว้างไกลในด้านศิลปะ นิเวศวิทยา มานุษยวิทยา ให้ความรู้ลุ่มลึกในหนทางพุทธประเพณีของวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังให้ความเข้าใจลึกซึ้งต่อชีวิตและแก่นของชีวิตอีกด้วย นอกจากนี้อาจารย์ยังเป็นนักตีความวรรณกรรมผู้มุ่งตรงไปสู่การไขความสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในมหากาพย์ วรรณกรรม วรรรณคดี นิทานชาดก และนิทานพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการตีปริศนาธรรมของการเดินทางไกลแห่งชีวิตกับแนวคิดทางพุทธศาสนาอย่างมีหลักเกณฑ์ งานตีความจึงเป็นดั่งสะพานเชื่อมต่อหนทางของบรรพชนให้ทอดยาวสู่อนุชน เพื่อคนรุ่นปัจจุบันจักได้เหลียวมองวรรณกรรมเก่าในมิติใหม่และร่วมสืบสานสมบัติทางปัญญา นี้ให้กระจ่างแจ้งต่อไป
ผลงานหลายเล่ม เป็นการมองการเปลี่ยนแปลงที่หมุนเคลื่อนอยู่ในวิถีวัฒนธรรม ด้วยการตั้งข้อสังเกตไว้อย่างลึกซึ้ง โดยมุ่งหวังให้คนอยู่รวมกันและ ร่วมกันในสังคมโลกด้วยศานติ – ไมตรี ในท่ามกลางกระแสที่อาจารย์เรียกว่า “วัฒนธรรมแห่งการปรนเปรอบริโภคทางอินทรียประสาทและการหยิ่งผยองในวิทยาการ” นั้น ผลงานของอาจารย์โกวิท เอนกชัย กระตุ้นเตือนมนุษย์ให้ตระหนักรู้ถึงการร่วมชะตากรรมอยู่ในโลกเดียวกันด้วยความรัก ความปรานี บนเส้นทางสู่ความรู้แจ้งแห่งตน
จึงกล่าวได้ว่าอาจารย์โกวิท เอนกชัย เป็นต้นแบบของนักเขียนที่มีผลงานอันสมควรได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “นักเขียนอมตะ”