อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด ครั้งที่ 4
“นักเขียนอมตะ” คนที่ 4 ประจำปีพุทธศักราช 2551
ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อยกย่อง นักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฏ และเป็นกำลังใจแก่นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงาน ที่มีคุณค่าอันควรแก่การนำเสนอเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงสู่สังคมไทยและสากล หลักเกณฑ์ในการพิจารณารางวัล “นักเขียนอมตะ”
- เป็นนักเขียนสัญชาติไทย มีชีวิตอยู่ในวันที่ทำการเสนอชื่อ
- มีผลงานตีพิมพ์เป็นภาษาไทยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี
- ผลงานเขียนดังกล่าวต้องมีคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ
รางวัล “นักเขียนอมตะ” จึงถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศซึ่งเปี่ยมด้วยคุณค่าและ มาตรฐาน คงไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ อิสระ และเชิดชูประวัติแห่งผู้อุทิศตนที่ทุ่มเทสร้าง ผลงานผู้ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” จะได้รับเงินสนับสนุน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) พร้อมเหรียญทองคำแกะสลักรูป “นางอินทร์” ต้นตระกูลกรมดิษฐ์ และใบประกาศเกียรติคุณ
มูลนิธิอมตะได้จัดตั้งคณะกรรมการคัดสรรเพื่อพิจารณามอบรางวัลให้แก่นักเขียน เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องโดยมีประธานกรรมการ ในการคัดสรรคือ ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ในปี พ.ศ. 2551 การพิจารณารางวัล “นักเขียนอมตะ” ดำเนินมาจนถึงปีที่ 4 โดยนักเขียนอมตะท่านแรกคือ นายศักดิชัย บำรุงพงศ์ หรือนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปี 2547 ต่อมาคือ นายโรจ งามแม้น หรือนามปากกา “เปลว สีเงิน” ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปี 2548 และท่านที่สามคือ อาจารย์โกวิท เอนกชัย หรือ “เขมานันทะ” รางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปี 2549-50 ในปีนี้ มูลนิธิอมตะได้จัดตั้ง คณะกรรมการคัดสรรเพื่อพิจารณามอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ดังมีรายนามต่อไปนี้
ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต | ประธานกรรมการ | ||
ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว | กรรมการ | ||
ศาสตราจารย์ ชวน เพชรแก้ว | กรรมการ | ||
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ | กรรมการ | ||
อาจารย์วัฒนะ บุญจับ | กรรมการ | ||
นางธารา กนกมณี | กรรมการ | ||
นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา | กรรมการและเลขานุการ |
คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์พิจารณารางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปีพุทธศักราช 2551 ให้แก่ นายสมบัติ พลายน้อย (ส. พลายน้อย)
มูลนิธิอมตะจะจัดให้มีพิธีมอบรางวัลแก่ “นักเขียนอมตะ” คนที่ 4 ในวันที่ 22 มกราคม 2552 ณ ที่ทำการมูลนิธิอมตะ โดยมี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล
นายสมบัติ พลายน้อย
เกิดวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 ที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภรรยาชื่อ นางจงกล พลายน้อย มีบุตรชาย 1 คน
ประวัติการศึกษา
- ชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล วัดประดู่ทรงธรรม
- ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
- ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษประถม (พ.ป.)
ประวัติการทำงาน
รับราชการครั้งแรกเป็นเสมียนสรรพากร และเปลี่ยนอาชีพไปรับราชการครูเป็นเวลา 5 ปี สนใจเขียนหนังสือมา ตั้งแต่ครั้งเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยได้สมัครเรียนวิชาการประพันธ์และการหนังสือพิมพ์ทางไปรษณีย์ ของอาจารย์ เปลื้อง ณ นคร นายสมบัติเริ่มเขียนสารคดีอย่างจริงจังนับแต่นั้นมา
ในขณะที่รับราชการครูอยู่นั้น อาจารย์เปลื้องได้เชิญให้มาทำงานด้านวารสารของกระทรวงศึกษาธิการหลายฉบับ มีผลงานเขียน ประเภทบทความ บทละคร สารคดี และเรื่องสั้นพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่างๆ เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันได้จัดรายการวิทยุศึกษาไปพร้อม ๆ กันด้วย พ.ศ. 2522 นายสมบัติได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานโสตทัศนูปกรณ์และเอกสารสิ่งพิมพ์ กองส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และเป็นบรรณาธิการวารสารวัฒนธรรมไทย พ.ศ. 2528 ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ 2 ปี ได้ลาออกจากราชการ เพื่อเขียนหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว นายสมบัติเป็นนักเขียนที่มีความสามารถ เขียนหนังสือได้หลายประเภท ปัจจุบันมีงานเขียนรวมเล่มแล้ว ประมาณ 100 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นงานเขียนประเภทสารคดี นิทาน และปกิณกะอื่นๆ ซึ่งจำแนกได้ดังนี้
งานเขียนประวัติบุคคลสำคัญ เช่น
- เจ้าพระยาวิชาเยนทร์
- พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดา
- พระเจ้าตากสินมหาราชแห่งชาติไทย
- เจ้าฟ้าจุฑามณี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ชาวต่างประเทศในประวัติศาสร์ไทย
- ฯลฯ
ประวัติศาสตร์และเรื่องน่ารู้ต่างๆ เช่น
- สารคดีน่ารู้สารพัดนึก
- เล่าเรื่องบางกอก
- 100 รอยอดีต
- พระราชวัง
- เล่าเรื่องพม่ารามัญ
- ฯลฯ
สารานุกรม เช่น
- สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย
- สารานุกรมวัฒนธรรมไทย
วรรณคดี ประวัติศาสตร์และความเชื่อ เช่น
- เทวนิยาย
- สัตวนิยาย
- พฤกษนิยาย
- อมนุษยนิยาย
- นิทานมหัศจรรย์
- ฯลฯ
นิทาน เช่น
- นิทานไทย
- นิทานไทยแสนสำราญ
- นิทานวรรณคดี
- นิทานเพื่อนบ้าน
- นิทานมหัศจรรย์
- ฯลฯ
เรื่องอื่นๆ เป็นสารคดีเบ็ดเตล็ดต่างๆ เช่น
- แลไปข้างหลัง
- เกิดในเรือ
- โลกแสตมป์
- สรรพสารคดี
- เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง
- ฯล
นอกจากนั้นยังมีผลงานเขียน ที่เป็นสารคดี เรื่องเขียนตามที่ได้รับการร้องขอจากองค์กรภาครัฐและเอกชนในโอกาสต่างๆ และได้เผยแพร่ในวารสารหลายฉบับ เช่น ศิลปวัฒนธรรม, สารคดี, เมืองโบราณ, วัฒนธรรมไทย, ต่วย’ตูน, ความรู้คือประทีป ฯลฯ ปรากฏผลงานออกมาเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
เกียรติคุณที่ได้รับ
พ.ศ. 2517 | หนังสือเรื่อง “พฤกษนิยาย” ได้รับรางวัลจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย | ||
พ.ศ. 2532 | หนังสือเรื่อง “ยาขอบ ชีวิตและงานของผู้แต่งอมตนิยายผู้ชนะสิบทิศ” ได้รับรางวัลในงานสัปดาห์หนังสือ แห่งชาติ |
||
พ.ศ. 2536 | หนังสือเรื่อง “สัตว์หิมพานต์” ได้รับรางวัลของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพฯ | ||
พ.ศ. 2535 | หนังสือเรื่อง “อัญมณีนิยาย” ได้รับรางวัลในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ | ||
พ.ศ. 2538 | หนังสือเรื่อง "เกิดในเรือ" ได้รับรางวัลในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ | ||
พ.ศ. 2539 | ได้รับประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี ) ประจำปีพ.ศ. 2539 | ||
พ.ศ. 2551 | ได้รับประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประจำปีพ.ศ. 2551 | ||
พ.ศ. 2551 | รางวัล “นักเขียนอมตะ” คนที่ 4 ประจำปีพุทธศักราช 2551 | ||
ปัจจุบัน | นายสมบัติ พลายน้อย อายุ 79 ปี ยังคงสร้างสรรค์งานเขียนอย่างสม่ำเสมอ |
พิธีมอบรางวัล ณ ที่ทำการมูลนิธิอมตะ