อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด ครั้งที่ 5
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล์
ผู้ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปีพุทธศักราช 2553
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล มีนามเดิมว่า ไพศาล วงศ์วรสิทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 เป็นลูกคนไทยเชื้อสายจีน เข้าศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ ตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาอยากจะเป็นวิศวกร เพราะมีความสนใจทางวิทยาศาสตร์ ต่อมาก็อยากจะเป็นหมอ จะได้ช่วยเหลือผู้อื่น แต่เมื่ออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พี่ชายได้เป็นหมอแล้ว ก็เริ่มสนใจการเมือง จึงเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ เพื่อต้องการทำประโยชน์ให้สังคม
ทำกิจกรรมตั้งแต่อยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่ออยู่มหาวิทยาลัยก็เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือปาจารยสาร ซึ่งมีแนวทางในการประยุกต์พุทธธรรมและอหิงสธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยความที่สนใจการเมืองจึงถูกมองว่าเป็นพวกซ้าย ขณะเดียวกัน ความสนใจในพระพุทธศาสนาก็ทำให้นักศึกษาด้วยกันมองว่าเป็นพวกขวา
บทบาทในเหตุการณ์ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทำงานกับชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยชุมนุมอย่างสงบในตึกเรียนในธรรมศาสตร์ แยกการชุมนุมกับนักศึกษา อดอาหารเรียกร้องคณะสงฆ์พิจารณาประเด็นที่เปิดโอกาสให้จอมพลถนอม กิตติขจร บรรพชาเป็น “สามเณรถนอม” ไม่เชื่อในแนวทางมาร์กซิส แต่ก็ถูกจับในขณะที่ทหารตำรวจและฝ่ายขวาบุกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การอุปสมบท
เมื่อเรียนจบก็กลับมาทำงานในกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 แต่ก็ไม่มีความสงบทางใจ มีแต่ความเหนื่อย เครียด ทะเลาะกับเพื่อนที่ทำงาน จึงได้ตัดสินใจบวชเรียนในปี พ.ศ. 2526 ณ วัดทองนพคุณ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร แล้วมาปฏิบัติธรรมที่วัดสนามใน ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี แทนที่จะไปอยู่วัดสวนโมกขพลาราม ต.เลม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีเพื่อนอยู่มาก
หลังจากนั้นก็ได้ไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดป่าสุคะโต ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ เพราะเป็นวัดสงบเงียบ สงบเย็น ร่มรื่น อยู่ในป่า มีพระอยู่น้อย ช่วงนั้นได้ช่วยหลวงพ่อคำเขียนทำสหกรณ์ข้าวให้ท่านด้วย
ครั้งแรกตั้งใจจะบวชเพียง 3 เดือน แต่เมื่อปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้า ก็เลยมีความอาลัยในผ้าเหลือง จึงบวชต่อเรื่อยมา ได้ชื่อว่าเป็นพระนักกิจกรรมหัวก้าวหน้า เชื่อมโยงพุทธศาสนากับสังคม เป็นนักคิด นักวิชาการ มีงานเขียนอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากการรับเชิญไปแสดงพระธรรมเทศนาในที่ต่างๆ
พระนักคิด นักวิชาการ นักเขียน นักกิจกรรม
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล หรือที่ในหมู่ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดเรียกว่า “หลวงพี่เตี้ย” เป็นพระผิวขาว ร่างเล็ก แต่เวลาเดินคล้ายกับท่านจะติดจรวดพ่วงเพิ่ม ก้าวขาปุ๊บปั๊บ ก็หายลับไปหลังกำแพงผู้คน ท่านได้ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์นักกิจกรรมหัวก้าวหน้าในจำนวนน้อยนิด ที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางด้านพุทธธรรมมาอธิบายปรากฏการณ์ของชีวิต และสังคมในบริบทสังคมสมัยใหม่ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เข้าใจได้ง่าย และมีทักษะในการอธิบายหลักธรรมที่ยากและลึกซึ้งให้เห็นเป็นเรื่องใกล้ตัว ง่ายต่อการเข้าใจ ทำให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญของเรื่องธรรม ว่าเป็นเรื่องที่น่าใคร่ครวญศึกษาและปฏิบัติ
รวมทั้ง เป็นนักคิด นักวิชาการ นักเขียนชั้นแนวหน้าท่านหนึ่ง ในหมู่ผู้แสวงหาทางออกให้แก่สังคมและโลกโดยสันติวิธี ท่านมีผลงานเขียนและงานแปลสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังเป็นบรรณาธิการหนังสือหลายฉบับ
เมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้รับรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2548 จากผลงานหนังสือ “พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ” ในสาขาศาสนาและปรัชญา
แม้ว่าจะถูกตั้งฉายาต่างๆ นานา แต่ทั้งหมดทั้งปวง พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ก็ยังคงยืนยันว่า “ชีวิตอาตมาเป็นแค่พระอย่างเดียว ก็เป็นเกียรติและประเสริฐสุดในชีวิตแล้ว ไม่มีอะไรสูงสุดกว่าการเป็นพระ ที่เหลือเป็นส่วนเกิน”
อย่างไรก็ตาม ตลอดชีวิตการบวชของพระอาจารย์ไพศาล มีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างมาก ท่านเองไม่ใช่แค่พระนักต่อสู้โดยสันติวิธี เรียกได้ว่าเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ต้องการสยบความวุ่นวายของบ้านเมืองด้วยปัญญา จะว่าไปแล้วท่านอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ที่เรียบง่ายไม่ต่างจากพระป่า
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต (วัดเอราวัณ) แต่มักจะเลือกจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามหาวัน (ภูหลง) บ้านตาดรินทอง ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อรักษาและอนุรักษ์ป่าตามโครงการวนาพิทักษ์ภูหลง เพราะทำให้ชาวบ้านเกรงใจไม่กล้าตัดไม้ วัดป่ามหาวันไปมายาก ทำให้มีเวลาทำงานและปฏิบัติธรรมได้มาก
นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง, กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย, กรรมการมูลนิธิสันติวิถี, กรรมการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และประธานเครือข่ายพุทธิกา
ผลงานด้านการเขียน
|
|
คำประกาศเกียรติคุณ
พระไพศาล วิสาโล คือปราชญ์แห่งยุคสมัยของแผ่นดิน เป็นนักคิด นักเขียน ผู้นำวิถีแห่งพุทธธรรมมาสร้างสรรค์เป็นผลงานอันล้ำค่า สะท้อนแง่มุมของปรากฏการณ์สังคม ด้วยนัยยะแห่งจิตวิญญาณที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากข้อขัดแย้งต่างๆ บนวิถีแห่งสันติ และก่อเกิดศรัทธาแห่งธรรมะขึ้นในจิตใจ
ผลงานเขียนของท่านคือรูปรอยของความคิดที่ก่อประโยชน์สุขอันงดงาม ซึ่งนำไปสู่วัฒนธรรมแห่ง “สันติภาพ” ในมโนสำนึกที่กระจ่างชัด อันเป็นภาพแสดงของการก้าวพ้นอำนาจของความรุนแรงในสภาวะสังคมที่ขัดแย้งแตกแยก ภาษาสื่อสารของท่านคือความหมายที่ยิ่งใหญ่ในการชี้ทางของความสุขสว่างทางปัญญา เป็นการพินิจพิเคราะห์ถึงเจตจำนงแห่งการดำรงอยู่ด้วยมิตรไมตรี และเต็มไปด้วยดุลยภาพอันสอดคล้องต่อชีวิตซึ่งควรค่าแก่การศึกษา อีกทั้งสามารถน้อมนำมาสู่การสร้างสัมพันธภาพที่ปราศจากอคติ
ข้อประจักษ์จากผลงานมากกว่าร้อยเรื่อง อาทิ สันติวิธีวิถีแห่งอารยะ ไม่ผลักไสไม่ใฝ่หา พุทธศาสนาไทยในอนาคต และขอคืนพื้นที่ธรรม ฯลฯ ล้วนทรงคุณค่าสำคัญอันมีผลต่อการหยั่งรู้และเข้าใจภาวะซับซ้อนของสังคม รวมทั้งการตอกย้ำถึงความคลี่คลายในการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของศาสนธรรม ที่ผสานเข้ากับความหวังในการก่อเกิดสันติวิธีขึ้นในใจของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามตลอดไป “แท้จริงมนุษย์หาใช่ศัตรูของเราไม่ ความโกรธเกลียดต่างหากคือศัตรูที่แท้จริง”
คณะกรรมการพิจารณารางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปีพุทธศักราช 2553 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พระไพศาล วิสาโล เป็นผู้สมควรได้รับรางวัลเกียรติยศ “นักเขียนอมตะ”
ประกาศ ณ วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2554